วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อัสนี-วสันต์ โชติกุล


อัสนี โชติกุล เกิดวันที่ 9 เมษายน 2498 จังหวัด เลย สูง165 เซนติเมตร
การศึกษา:

  • ระดับประถมศึกษา: โรงเรียนเมืองเลย จ.เลย
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น: โรงเรียนสโมสรวิทยาลัย จ.เลย
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเลยพิทยาคม จ.เลย
  • ระดับปริญญาตรี เคยศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ปี 2517
  • ศึกษาทฤษฎี : JAZZ HARMONY และTRADITIONAL HARMONY หลักสูตร “BERKLEE COLLEGE OF MUSIC” (BOSTON U.S.A.) PRIVATE LESSON จาก อาจารย์ สหัสชัย ศุภมิตร ปี 2526
  • เรียนดนตรีที่โรงเรียนศศิลิยะ กับอาจารย์ ดนู ฮันตระกูล และ อาจารย์ บรูซ แกสตัน ( BRUCE GASTON ) ทฤษฎี : ARRANGING , ORCHESTRATION และ MUSIC FOR CHILDREN หลักสูตร “CARL ORFF” ( GERMAN ) ปี 2527 - 2528
  • เรียนดนตรี หลักสูตร EAR TRAINING : ZOLTAN KODALY (HUNGARIAN)

โต๊ะ วสันต์ โชติกุล เกิดวันที่ 25 เดือน มีนาคม 2500 จังหวัด เลย
การศึกษา:
  • ระดับประถมศึกษา: โรงเรียนเมืองเลย จ.เลย
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น: โรงเรียนสโมสรวิทยาลัย จ.เลย
  • ระดับปริญญาตรี: วิทยาลัยเพาะช่าง
  • ศึกษาPRIVATE LESSON จาก อาจารย์ สหัสชัย ศุภมิตร หลักสูตร “BERKLEE COLLEGE OF MUSIC” (BOSTON U.S.A.) ปี 2526
  • เรียนดนตรีหลักสูตรทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นที่โรงเรียนศศิลิยะ จากอาจารย์อรรณพ จันสุตะ, อาจารย์จาตุรนต์ เอมซ์บุตร และ อาจารย์ธนวัฒน์ สีปสถวรณ์ ปี 2527 -2528

ทั้งคู่เป็นชาวจังหวัดเลย โดยกำเนิด และเติบโตในครอบครัวที่มีดนตรีอยู่ในหัวใจ มีคุณพ่อเป็นทนายอารมณ์สุนทรีย์ชอบเล่นไวโอลิน และเล่นประจำอยู่ในวงเครื่องสายไทยประจำจังหวัดเลยเป็นงานอดิเรก ส่วนคุณแม่เป็นคุณครู ที่รักการเล่นดนตรีเช่นกัน โดยครอบครัวอบอุ่นรักเสียงเพลง ครอบครัวนี้ มีทายาทด้วยกันทั้งหมด 4 คนด้วยกัน ซึ่ง ป้อม อัสนี เป็นพี่ชายคนที่สองในบ้าน ขณะ โต๊ะ วสันต์ เป็นทายาทคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ซึ่งก็ได้ซึมซับความชื่นชอบในดนตรีจากคนในครอบครัวมาเช่นกัน

หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยม อัสนีเลือกที่จะมาผจญชีวิตในเมือง ซึ่งในเวลานั้นวสันต์ ผู้น้องเข้ามากรุงเทพฯ มาเรียนวิทยาลัยเพาะช่างอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งสองพี่น้องได้ฝึกปรือฝืมือทางดนตรีจนพอเล่นให้ความเพลิดเพลินกับผู้คน ได้ จึงรับเล่นดนตรีตามผับ และร้านอาหารทั่วไป แนวเพลงโปรดของอัสนี คือ Rock' n Roll ศิลปินต่างประเทศ อาทิ The Beatles และ Yes คือ คนที่อัสนีชื่นชอบในแนวดนตรี และฝีไม้ลายมือ ขณะที่ วสันต์ หลงไหลในความนุ่มนวล พริ้วไหวของแนวดนตรี โฟล์ค และแจ๊ส โดยลาร์รี่ คาร์ลตัน คือนักกีตาร์ แจ๊ส เป็นหนึ่งในนักดนตรีคนโปรดของเขา

สองพี่น้อง เล่นดนตรีตามผับอยู่พักใหญ่จึง เข้าประกวด ในงานชิงแชมป์โฟล์คซองแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2518 และด้วยฝีไม้ลายมือ และความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นก็สามารถชนะใจคณะกรรมการ ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ในปีนั้นไปครอง ก่อนที่ อาจารย์วิมล จงวิไล หนึ่งในคณะกรรมการการตัดสินครั้งนั้น รู้สึกประทับใจในฝีมือทางดนตรีของสองพี่น้องจากเมืองเลยคู่นี้ จึงชักชวนให้ทำวง และเข้าห้องบันทึกเสียง และนี่… คือจุดกำเนิดของวง อิสซึ่น

หลังจากหาประสบการณ์ดนตรีด้วยการนำเสนอแนวดนตรีโฟล์ค ร็อค และเล่นดนตรีกลางคืนกับวงอิสซึ่นได้ระยะหนึ่ง อัสนี หนึ่งใน 2 พี่น้อง ก็แยกตัวออกมาด้วยเหตุผลที่ อัสนีอยากจะค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการเล่นดนตรี ประจวบเหมาะกับที่ 'เต๋อ' เรวัต พุทธินันทน์ ที่ได้รู้จักพบปะกันตามประสาพี่น้องนักดนตรีก่อนหน้านี้ ได้ชักชวนให้มาเล่นกับวงดิ โอเรียนเต็ล ฟังค์ ทำให้อัสนีได้รับประสบการณ์ดนตรีอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยเพราะแนวทางของวง ดิ โอเรียนทัล ฟังค์ เน้นเล่นเพลงแนวฟังค์กี้ เต้นรำ

ขณะที่วสันต์ อยากจะโลดแล่นต่อไปในแนวทางดนตรีโฟล์ค ร็อค กับวงอิสซึ่น ต่อไป ซึ่งเขา และอิสซึ่นนำเสนอ ผลงานอัลบั้มออกสู่คนฟัง 5 ชุด โดยผลงานที่ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นที่จดจำคือ ชุดสาวตางาม และสยามสแควร์ และในบางเพลงของอิสซึ่น ถูกนำมาเรียบเรียง และขับร้องใหม่ เช่น เพลง "หนึ่งมิตรชิดใกล้"

ในส่วนของอัสนี หลังจากที่เล่นหาประสบการณ์กับวงดิ โอเรียนทัล ฟังค์ จนถึงจุดที่สมาชิกแต่ละคนมีภาระหน้าที่ของตัวเอง และจำใจต้องแยกย้ายยุบวงไป ซึ่งด้วยการที่ป้อม อัสนี เป็นนักดนตรีที่ มุ่งมั่นตั้งใจหมั่นฝึกฝนและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ แถมยังได้ขัดเกลาฝีมือทางดนตรีในช่วงที่เล่นอยู่กับวง ดิ โอเรียนทัล ฟังค์ ทำให้อัสนีกลายเป็นนักดนตรีระดับพระกาฬคนหนึ่งในวงการ จึงได้รับการทาบทามจากกลุ่ม "บัตเตอร์ฟลาย" ซึ่งเป็น กลุ่มคนดนตรีฝีมือระดับหัวกะทิในยุคนั้น มีสมาชิกวง อาทิ จิรพรรณ อังศวานนท์ สุรสีห์ อิทธิกุล ดนู ฮันตระกูล กฤษณ์ โชคทิพย์วัฒนาฯลฯ นำเสนองานดนตรี ร็อคที่เรียกได้ว่ามีคุณคุณภาพ และยังถือว่าโดดเด่น รวมทั้งแตกต่างในตลาดเพลง

อัสนียังได้ร่วมกับกลุ่ม บัตเตอร์ฟลายแต่งเพลงโฆษณาอีกหลายเพลงให้กับสินค้ายี่ห้อดังต่างๆ นอกจากนี้รับเล่นดนตรีแบ็คอัพให้ศิลปินดังในยุคนั้น อย่าง วงฮ็อทเปปเปอร์ซิงเกอร์ ของ ปราจีน ทรงเผ่า ตลอดจนพลิกผันตัวเอง ขึ้นมารับบทโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินหลายต่อหลายคน เช่น ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ในอัลบั้ม "แดนศิวิไลซ์" ที่เดินทางไปบันทึกเสียงกันถึงประเทศอังกฤษ และอัสนียังได้สร้างให้วงไมโคร กลายเป็นวงอันดับขวัญใจวัยรุ่นอันดับหนึ่งพ.ศ. นั้น กับอัลบั้ม "ร็อค เล็กๆ"

หลังจากผันตัวเองไปทำงานเบื้องหลังระยะหนึ่ง อัสนีก็ตัดสินใจ ทำผลงานเพลงตัวเองออกมา ดึงคราวนี้เขาได้ชวนวสันต์ มาร่วมผนึกกำลังเป็นนักดนตรีดูโอร็อค "อัสนี-วสันต์" นำเสนองานดนตรีชุดแรก "บ้าหอบฟาง" ในปี 2529 ซึ่งอัลบั้มนี้ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์ว่า เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดชุดหนึ่งป้อม-อัสนีกลายเป็นผู้เปิดตลาดเพลงร็อค สร้างลีลาการร้องที่เป็นเอกลักษณ์ คือการลากเสียงยาว

ในปี 2530 อัสนี-วสันต์ ปั้นอัลบั้ม "ผักชีโรยหน้า" ที่สร้างความสำเร็จ และชื่อเสียงอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะเพลง กระแทกใจกลุ่มแฟนเพลง ที่เรียกตัวเองว่า "จิ๊กโก๋อกหัก"อย่าง "ก็เคยสัญญา" หรือเพลงรักนุ่มๆอย่าง "หนึ่งมิตรชิดใกล้" ซึ่งอัลบั้ม "ผักชีโรยหน้า" นี้ได้รับการยกย่องจากนักฟังเพลง และบรรดานักวิจารณ์ ในประเด็นที่ เนื้อหาเพลงสามารถสะท้อนสภาพสังคมได้อย่างคมคาย รวมถึงการคิดแนวทำนอง กีตาร์โซโลที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ถัดมาหนึ่งปี ทั้งคู่ได้ทำอัลบั้มใหม่ "กระดี่ได้น้ำ" และทยอยออกอัลบั้มใหม่ติดๆ กัน คือ "ฟักทอง" และ "สับปะรด" ในปี 2532 และ 2533 ตามลำดับ ซึ่งแต่ละอัลบั้มที่กล่าวมาก็สร้างเพลงฮิตอีกหลายเพลง สานต่อความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง

จากนั้นอัสนี-วสันต์ ได้ห่างหายจากการออกอัลบั้มไปนานถึง 3 ปี โดยให้เหตุผลว่า เป็นช่วงที่เขาต้องการพักเพื่อทบทวนตัวเอง และแสวงหาความแตกต่าง ให้กับผลงานชุดใหม่ และในที่สุดศิลปินอย่างเขาก็กลับมาสร้างสรรค์บทเพลงรับใช้สังคมในแง่มุมที่ สนุกสนาน และคมคายได้อีกครั้ง ในอัลบั้มชุด "รุ้งกินน้ำ" ซึ่งอัสนีพยายามลดทอดบทบาทกีตาร์ลง และนำเครื่องดนตรีอื่นๆ เข้ามาเสริม เพื่อเฉลี่ยความน่าสนใจให้กับเครื่องดนตรีอื่นๆ รวมถึงเนื้อหา ซึ่งอัสนี-วสันต์ก็ทำได้อย่างลงตัว จนทำให้อัลบั้มนี้ ได้รับรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมประจำปี 2536 จากสีสัน อวอร์ด

หลังจาก สั่งสมประสบการณ์และชื่อเสียงมาพอสมควร ในปี 2538 อัสนีจึงตัดสินใจเปิด บริษัท มอร์ มิวสิค เพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์ ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ซึ่งในที่สุดพี่ป้อมของน้องๆ นักดนตรี ก็กลายเป็นพี่ป้อมอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินร็อคหน้าใหม่ หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น โลโซ, แบล็คเฮด, ซิลลี่ ฟูลส์ และโจ-ก้อง และอีกมากมาย

จนกระทั่งปี 2540 สองพี่น้องอัสนี-วสันต์ จึงได้ออกอัลบั้มร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ในชุด "บางอ้อ" และในปี 2545 สองพี่น้องเจ้าของตำนานร็อคจากที่ราบสูง ก็ได้ฤกษ์วางอัลบั้มชุดใหม่"จินตนาการ"

และ ในปี 2545 อัสนี-วสันต์ ได้ฤกษ์วางอัลบั้มชุดใหม่ "จินตนาการ" จากนั้นทั้งคู่ได้ว่าง เว้นการทำอัลบั้มไปถึง 4 ปี เพื่อค้นหาวัตถุดิบทางดนตรี ก่อนจะสร้างงานชุดใหม่ "เด็กเลี้ยงแกะ" ที่ยังคงเข้มข้นด้วยคุณภาพ ทั้งในแง่ของเนื้อหาที่สะท้อนมุมความคิดได้คมคาย ลึกซึ้ง แทรกอยู่ในท่วงทำนอง และดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์

ถัดมาปี 2550 อัสนี-วสันต์ ได้หันมาทำอัลบั้ม Acoustic ชื่อ "พักร้อน" โดยให้เหตุผลว่า อยากลองหวนไปสู่จุดเริ่มต้นที่พวกเขาสองพี่น้องได้เริ่มพื้นฐานทางดนตรีด้วย แนวโฟล์คซอง ตั้งแต่
สมัยวง อิสซึ่น จึงขอนำความประทับใจ ความทรงจำดีๆ ในวันเก่าๆ กลับมาร้องบรรเลงอีกครั้ง


นอกจากงานเพลงสะท้อนความเป็นอัสนี-วสันต์แล้ว ศิลปินจากที่ราบสูงยังทำงานเพลงเพื่อรับใช้สังคม ในวาระสำคัญต่างๆ อาทิ แต่งเพลงเชียร์ขาดใจ เพลงให้การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ จ.เชียงใหม่ ปี 2538

เพลงสำเนียงประชาธิปไตย เพื่อรณรงค์ การเลือกตั้ง ปี 2548 และหากย้อนไปไกลถึง 20 ปี อัสนี ยังเคยสร้างสรรค์เพลงเพื่อส่งแวดล้อม ชื่อ "ชีวิตสัมพันธ์" ร่วมกับ คุณยืนยง โอภากุล ปี 2531 กลายเป็นเพลงระดับตำนานที่ใช้รณรงค์ สร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของ ธรรมชาติ ป่าเขา และสภาวะแวดล้อมมาจนถึงทุกวันนี้

ผลงานเพลง “กรุงเทพมหานคร” จากอัลบั้มฝักทอง ที่โดดเด่นเรื่องการดีไซน์การร้อง และดนตรีนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวไทยสามารถ จดจำชื่อเมืองหลวงของประเทศได้







1 ความคิดเห็น:

  1. ผมชอบผลงานพี่ป้อม พี่โต๊ะ เป็นการส่วนตัวครับ ติดตามทุกอัลบัม แต่ยังไม่เคยไปดูคอนเสิร์ตพี่เค้าเลย ซื้อแต่ซีดีมาดูที่บ้าน ไม่ชอบเบียดคนเยอะๆ :)

    ตอบลบ